หลวงพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ "พระอรหันต์ยุคกึ่งพุทธกาลแห่งแดนใต้ มีสัจจะวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ดั่งปากพระร่วง"


          ประวัติพ่อท่านคล้ายหรือท่านพระครูพิศิษฐ์อรรถการนามเดิม “คล้าย สีนิล” เกิดเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๑๙ ณ บ้านโคกกระทือ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช (บางตำราเขียนไว้ว่า พ่อท่านเกิดวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ ซึ่งถ้านับตามปีที่พ่อท่านคล้ายเกิดจนกระทั่งมรณภาพก็จะครบ ๙๖ ปีพอดี หย่อนอยู่ไม่กี่เดือน)
           พ่อท่านคล้ายเป็นบุตรของนายอินทร์ กับนางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อเพ็ง สีนิล จนกระทั่งท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ พอจะเรียนอักษรสมัยตามประเพณีในสมัยนั้น ท่านก็ได้เริ่มเรียนหนังสือโดยบิดาของท่านเป็นครูสอนเองที่บ้าน ต่อมาเมื่ออายุประมาณ ๑๓ ขวบ บิดาของท่านก็ได้นำไปฝากให้เรียนวิชาเลขในสำนักของนายขำ ไม่ทราบนามสกุล อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งปอน (จันดี) บ้านโคกกระทือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ พ่อท่านคล้ายมีอายุ ๑๔ ย่าง ๑๕ ปี ก็ได้ไปอาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขย ที่ตำบลมะม่วงเอน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในช่วงเวลานั้นเองก็เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของท่าน โดยมีผู้เล่าสืบๆกันมาว่า วันหนึ่งท่านได้ไปกับพี่เขย คือนายซ้าย เพ็ชรฤทธิ์ เพื่อโค่นไร่ (ถางป่าทำไร่) โดยพี่เขยโค่นไม้บุกหยวกซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง พ่อท่านคล้ายนั่งอยู่บนขอนไม้ที่โค่นลงแล้ว ถูกไม้ที่พี่เขยกำลังโค่นหักลงมาถูกที่หลังเท้าข้างซ้ายของท่านแตกละเอียด มีอาการเจ็บปวดมาก แม้จะใช้ยาพอกก็ไม่หาย โดยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายใช้มีดที่ลับคมดีแล้วตัดปลายเท้าออกเหลือแค่ข้อเท้า โดยมือของท่านเอง ใช้ยาพอกไม่นานก็หาย เมื่อแผลหายเป็นปกติแล้ว พ่อท่านคล้ายได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดวังม่วง ตำบลฉวาง อำเภอฉวาง โดยมีอาจารย์ทอง ปทุมสุวณฺโน เจ้าอาวาสวัดวังม่วง เป็นอาจารย์ฝึกสอนให้เรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและวิชาเลข จนมีความชำนาญขึ้นกว่าเดิมแต่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ให้บรรพชา พ่อท่านคล้ายบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ได้ ๒ พรรษาแล้วได้ลาสิกขาออกไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบกิจการงานต่อไป เมื่อครั้งที่พ่อท่านคล้ายยังเป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ไปฝากตัวอยู่กับนายทองสาก อาจารย์หนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น พ่อท่านหัดหนังตะลุงอยู่หลายปีจนเป็นที่นิยมของคนหมู่มาก พ่อท่านคล้ายเป็นผู้มีเสียงไพเราะ มีรูปสวยแม้เท้าจะด้วน ความติดพันแห่งเพศตรงกันข้ามก็มีโดยมิต้องสงสัย ทราบว่ามีหลายคนเสียด้วย ซึ่งโยมบิดามารดาของท่านขอร้องแกมบังคับให้ท่านบวชและท่านก็ตกลงใจตามคำขอร้อง
ช่วงเวลาแห่งการเข้าสู่ร่มกาสวะพักตร์
          ในวันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา พ่อท่านคล้ายได้อุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมา (ศาลาน้ำ) วัดวังม่วง หมู่ที่ ๒ ตำบลฉวาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีท่านพระครูกราย คงฺคสุวฺณโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เจ้าคณะแขวงฉวาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาในวันอุปสมบทว่า “จนฺทสุวณฺโณ”
          หลังจากที่พ่อท่านคล้ายอุปสมบทแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจนแตกฉาน จนในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน พ่อท่านคล้ายได้รับความเคารพศรัทธาในปฏิปทา จริยวัตรปาฏิหาริย์ของทุกชนชั้น ตั้งแต่สามัญจนถึงพระมหากษัตริย์และเป็นมิ่งขวัญของศิษยานุศิษย์และศาสนิกชนทั่วไป พ่อท่านคล้ายเป็นพระอรหันต์ยุคกึ่งพุทธกาลแห่งแดนใต้ มีสัจจะวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปากพระร่วง เมื่อได้กล่าวสิ่งใดออกไปแล้วจะเป็นไปตามนั้นทุกประการซึ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับท่านล้วนศักดิ์สิทธิ์และเกิดปาฏิหาริย์ให้ผู้คนได้ประจักษ์มาแล้วทั้งสิ้น
          พ่อท่านคล้ายเป็นนักบำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง เหมือนว่าจะไม่มีถนนสายไหน โรงเรียนหลังไหน สะพานใดและวัดใด ในเขตอำเภอฉวาง ตลอดถึงต่างอำเภอ ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ที่พ่อท่านคล้ายจะไม่จาริกไปช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ให้อย่างทั่วถึงแม้จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต งานที่ท่านบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ก็ยังมีอยู่อีกมากและรอการสานต่อจากพุทธศาสนิกชนที่เคารพและศรัทธาในตัวท่านเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ผู้มี “วาจาสิทธิ์” สืบไป
อวสานแห่งชีวิต
          พ่อท่านคล้ายได้บำเพ็ญประโยชน์มาเป็นเวลานาน ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๓ พ่อท่านคล้ายเกิดอาพาธกะทันหัน จึงได้นำตัวของท่านไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หมอได้พยายามรักษาจนเต็มความสามารถเป็นเวลา ๑๔ วัน อาการมีแต่โทรมกับทรุด ครั้นถึงวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓  เวลา ๒๓.๐๕ นาฬิกา พ่อท่านคล้ายได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ พร้อมหน้าหมอและศิษยานุศิษย์ที่อยู่พร้อมหน้ากัน ณ ที่นั้น ศิริชนมายุพ่อท่านคล้ายได้ ๘ รอบ ซึ่งหย่อนอยู่ไม่กี่พรรษาก็จะครบ ๙๖ ปีบริบูรณ์ พ่อท่านคล้ายได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมา ๗๔ พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันได้ ๖๕ ปี
          อนึ่งในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ อันครบกำหนดสัตมวาร (๗ วัน) นับแต่วันมรณภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.ต. ชุมพล001 โลหะชาละ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนำผ้าไตรหลวงจำนวน ๒๕ ไตร มาบำเพ็ญกุศลสัตมวารอุทิศถวายพ่อท่านคล้ายเป็นการบำเพ็ญราชานุเคราะห์ส่วนพระองค์
          สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช) ทรงประทานพระโอวาทแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านคล้าย มีใจความตอนหนึ่งว่า
  “ตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะองค์ใดได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าไตรถึง ๒๕ ไตรเลย เคยมีสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งได้รับ ๒๔ ไตรแต่พ่อท่านคล้ายนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษพระราชทานถึง ๒๕ ไตร”
ปัจจุบันนี้ศพพ่อท่านคล้ายได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์น้อย ยังไม่ได้มีผู้ใดริเริ่มการขอพระราชทานเพลิงศพ
 ปัจจุบันนี้ยังคงมีประชาชนหลั่งไหลมาสักการะศพของพ่อท่านคล้ายอยู่ไม่ได้ขาด

credit : ขอขอบคุณบทความดีๆจาก kaewariyah.com

ความคิดเห็น

  1. เคารพและศรัทธาหลวงพ่อคล้ายมากปัจจุบันแขวนเหรียญปิดตาปืนไขว้เดี่ยวๆครับ

    ตอบลบ
  2. น้อมกราบ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น